วันพุธที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

หน้าที่ 1 เรื่องการกระจายอำนาจ


       
 เรื่องการกระจายอำนาจ



      ในสถานการณ์ปัจจุบัน ภายใต้สภาวการณ์ของประเทศที่ยังแก้ปัญหาการเมืองไม่ตกนี้ ได้เกิดปัญหาการเมืองขึ้นอีกปัญหาหนึ่ง ปัญหานี้นับว่ามีความสำคัญมาก สมควรที่จะต้องทำให้เกิดความเข้าใจแก่พี่น้องประชาชน มิฉะนั้น จะเป็นมหันตภัยอันร้ายแรงต่อความมั่นคงของชาติและสถาบันพระมหากษัตริย์ ปัญหานี้ก็คือ การกระจายอำนาจ        โลกในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ได้มีการรวมชาติรูปใหม่โดยรวมแว่นแคว้นต่างๆ เข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เรียกว่า รัฐประชาชาติ (National State) (รัฐในประวัติศาสตร์สมัยกลาง เรียกว่า รัฐเจ้านคร หรือ Feudal State) การรวมชาติเป็นประเทศในประวัติศาสตร์สมัยใหม่นี้ ทำให้มีประเทศเกิดขึ้นเป็นรัฐ 2 แบบ คือ
            1.รัฐเดียว (Unitary State) คือ การรวมชาติเป็นประเทศแบบรัฐเดียว เรียกว่า ราชอาณาจักร (Kingdom)ราชอาณาจักร คือ ประเทศที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ราชอาณาจักร หรือ ประเทศรัฐเดียว ใช้วิธีการตามหลักการ รวมอำนาจการปกครอง (Centralization of Administrative Power)ซึ่งหมายถึง ประเทศรัฐเดียว จะดำรงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของราชอาณาจักรไว้ได้นั้น ต้องรวมอำนาจการปกครองเท่านั้น จะกระจายอำนาจการปกครองหรืออำนาจบริหารไม่ได้ ถ้ากระจายอำนาจการปกครองหรืออำนาจบริหาร ก็คือ การทำลายความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของราชอาณาจักร ซึ่งหมายถึง การทำลายความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์นั่นเอง
                     2.หลายรัฐ (Multi-State)คือ การรวมชาติเป็นประเทศในแบบหลายรัฐ ซึ่งโดยทั่วไป เรียกว่า สาธารณรัฐ (Republic)สาธารณรัฐคือประเทศที่มีประธานาธิบดีหรือสถาบันอื่นที่ไม่ใช่สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นประมุขประเทศหลายรัฐ ใช้วิธีการตามหลักการ การกระจายอำนาจการปกครอง (Decentralization of Administrative Power)แต่การกระจายอำนาจนั้น ก็เป็นการกระจายอำนาจการปกครองภายใต้การรวมศูนย์อำนาจการปกครองอยู่นั่นเอง หลักการเหล่านี้ เป็นหลักวิชารัฐศาสตร์ ที่ยึดถือกันโดยทั่วไปของประเทศทั้งหลายในประวัติศาสตร์สมัยใหม่
               การรวมศูนย์อำนาจการปกครอง และการกระจายอำนาจการปกครอง ต่างก็เป็นวิธีรวมประเทศเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ตามสภาวการณ์ทางประวัติศาสตร์และทางสังคมของแต่ละประเทศ บางประเทศสร้างเอกภาพด้วยการรวมศูนย์อำนาจการปกครอง บางประเทศสร้างเอกภาพด้วยการกระจายอำนาจการปกครอง ซึ่งจะกำหนดเอาตามความต้องการของบุคคลไม่ได้ มิฉะนั้น จะเป็นการทำลายเอกภาพ หรือความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประเทศ และนำไปสู่มิคสัญญีกลียุค อย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น เพราะเป็นกฎที่แน่นอน
           
รัชกาลที่ 5 ด้วยพระปรีชาชาญอันยิ่งยวด ทรงรวมชาติในรูปรัฐเดียว เรียกว่า ราชอาณาจักร ทำนองเดียวกับประเทศทั้งหลายที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ของอังกฤษ เรียกว่า สหราชอาณาจักร (United Kingdom) และของญี่ปุ่นเรียกว่า จักรวรรดิ (Empire) มีรัฐต่างๆ รวมกันคล้ายกับการรวมประเทศในรูปหลายรัฐ แต่ต่างกันที่รัฐของญี่ปุ่นมีลักษณะการปกครองของตนเองทางวัฒนธรรม (Cultural Autonomous) ไม่มีลักษณะการเมืองดังเช่นรัฐต่างๆ ของประเทศในรูปหลายรัฐ เช่น สหรัฐ หรือ รัฐบาลสหพันธ์ (Federal Government) รัฐบาลแห่งรัฐ (State Government) หรือ รัฐบาลมลรัฐ
           
ตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 1. บัญญัติว่า ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้นั้น แท้จริงก็คือ บัญญัติขึ้นตามข้อเท็จจริงของหลักวิชาการในการรวมประเทศไทยให้เป็นแบบรัฐเดียว ด้วยพระปรีชาญาณอันยิ่งยวดของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น