วันพุธที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

หน้าที่ 2 เรื่องการกระจายอำนาจ


นักวิชาการและนักการเมืองหลอกประชาชนว่าการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นการกระจายอำนาจเพื่อสร้างประชาธิปไตย ซึ่งกระทรวงมหาดไทยไม่เห็นด้วยก็ถูกกล่าวหาว่าหวงอำนาจ เป็นไดโนเสาร์เต่าล้านปี ศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก เคยตั้งปัญหาไว้ว่า การกระจายอำนาจคืออะไร?แต่ก็ยังไม่มีใครตอบปัญหานี้ได้
           

พี่น้องประชาชนครับ ปัญหานี้ไม่เพียงแต่ต้องการคำตอบว่า การกระจายอำนาจคืออะไร? เท่านั้นครับ ยังต้องการคำตอบในอีกหลายปัญหา เช่น การรวมศูนย์อำนาจคืออะไร? อำนาจทั้งหมดของรัฐประกอบด้วย อำนาจอะไรบ้าง? อำนาจแต่ละอำนาจแตกต่างกันอย่างไร? และแต่ละอำนาจกระจายอย่างไร? กระจายอำนาจเพื่อสร้างประชาธิปไตยคืออะไร? เพราะอำนาจมีหลายอำนาจ คือ
           
         1.อำนาจรัฐ (State Power)คือ อำนาจของสูงสุด และรวมอำนาจทุกอำนาจไว้ ตั้งแต่อำนาจอธิปไตยตามลำดับลงมาถึงอำนาจสังคม
           
           2.อำนาจอธิปไตย (Sovereignty หรือ Sovereign Power หรือ Supreme Power of State)คือ อำนาจสูงสุดของรัฐหรือประเทศ เป็นเพียงอำนาจเดียวที่รุนแรงและเด็ดขาด สมัยโบราณเชื่อกันว่า อำนาจนี้มาจากพระผู้เป็นเจ้าทรงมอบให้พระเจ้าแผ่นดินเป็นผู้ถือและใช้อำนาจนี้แต่เพียงผู้เดียว แต่สมัยนี้หลังจากที่มีลัทธิประชาธิปไตยเกิดขึ้นในโลกแล้ว ทำให้โลกรู้ว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน (Sovereignty of the People) อำนาจอธิปไตยแสดงออกใน 3 รูปคือ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร อำนาจตุลาการ และแสดงออกมาในทางองค์กร คือ รัฐสภา คณะรัฐบาล และศาล
           
              3.อำนาจการปกครอง หรือ อำนาจบริหาร (Administrative Power) คืออำนาจรัฐระดับต่างๆ ลงมาจนถึงระดับท้องถิ่น ซึ่งประเทศไทยได้แบ่งอำนาจการปกครอง หรืออำนาจบริหารออกเป็น 3 ส่วน ตามหลักวิชาของประเทศรัฐเดียว เรียกว่า ส่วนกลาง (Central) ส่วนภูมิภาค (Provincial) และส่วนท้องถิ่น (Local)
           
ส่วนกลาง คือ องค์การของรัฐระดับต่างๆ เช่น สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง ทบวง กรม ฯลฯ
           
ส่วนภูมิภาค คือ อำนาจส่วนกลางแต่ไปตั้งอยู่ในภูมิภาค เมื่อก่อนเรียกว่า มณฑล (Province) ต่อมาเรียกว่า จังหวัด ถัดลงมาจากจังหวัด เรียกว่า อำเภอ (District) ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดของ อำนาจการปกครอง หรือ อำนาจบริหาร (Administrative Power)
           
ผู้มีอำนาจการปกครอง หรืออำนาจบริหาร คือ ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ จะต้องได้รับ การแต่งตั้งจากส่วนกลางตามหลักการรวมอำนาจของประเทศรัฐเดียว จึงจะรักษาความเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวของประเทศไว้ได้ ดังนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดจึงเลือกตั้งไม่ได้เพราะการเลือกตั้งเป็นวิธีหนึ่งของการกระจายอำนาจ
           
ถัดลงมาจากอำเภอ ซอยลงมาเป็นตำบลหรือหมู่บ้าน ส่วนที่ซอยลงมานี้เรียกว่า ส่วนท้องถิ่น (Rural) คือ ส่วนที่อำนาจรัฐผสมผสานอย่างเหมาะสมกลมกลืนกับส่วนของประชาชน ที่มีการปกครองดูแลกันเองตามความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ในรูปของชุมชน ผู้มีอำนาจในส่วนนี้ คือ กำนันและผู้ใหญ่
           
                  4.อำนาจสังคม (Social Power) หรืออำนาจท้องถิ่น (Local Power)หมายถึง อำนาจที่ไม่มีลักษณะการเมือง เช่น อำนาจทางวัฒนธรรม อำนาจทางการรักษาความสงบเรียบร้อย อำนาจจัดการสาธารณูปโภคสาธารณูปการ เป็นต้น เป็นอำนาจจัดการในส่วนท้องถิ่น หรือเขตชุมชนเมือง เรียกว่า สุขาภิบาล (Municipality) ต่อมารัชกาลที่ 7 ทรงเปลี่ยนเป็น เทศบาล และจัดรูปของเทศบาลเป็น นคร เมือง และตำบล และในปัจจุบันได้เพิ่มรูปการปกครองท้องถิ่นขึ้นเป็น องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล รวมทั้งเขตการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ คือ กรุงเทพมหานคร และ เมืองพัทยา ซึ่งอำนาจท้องถิ่นในส่วนที่นักวิชาการและนักการเมืองเพิ่มขึ้นนี้ ไม่ชอบด้วยหลักวิชาและข้อเท็จจริงของการจัดตั้งองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ซึ่งกระผมจะได้กล่าวในตอนต่อไป
           
อำนาจอธิปไตย ซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดของประเทศนั้น เป็นอำนาจที่กระจายได้ และต้องกระจายไปสู่ประชาชนจะกระจายไปสู่องค์การหรือเขตไม่ได้ เพราะอำนาจอธิปไตยนั้นเป็นของประชาชนอยู่แล้ว ต่างแต่ว่าเป็นของประชาชนส่วนน้อย หรือเป็นของประชาชนทั่วไป ถ้าอำนาจอธิปไตยเป็นของชนส่วนน้อย คือ การรวมศูนย์อยู่ที่ชนส่วนน้อย เรียกว่าเผด็จการ ถ้าเป็นของปวงชนหรือประชาชนทั่วไป เรียกว่า ประชาธิปไตยซึ่งอำนาจอธิปไตยของปวงชนนี้ ศัพท์ทางวิชาการเรียกว่า ระบอบประชาธิปไตยดังนั้น เครื่องวัดว่า ประเทศใดเป็นประชาธิปไตยหรือเป็นเผด็จการ จึงอยู่ที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนทั่วไป หรือเป็นของชนส่วนน้อย ประชาธิปไตยไม่ได้อยู่ที่มีรัฐธรรมนูญ หรือไม่มีรัฐธรรมนูญ หรืออยู่ที่ต้องเลือกตั้งหรือไม่เลือกตั้ง หรืออยู่ที่การกระจายอำนาจการปกครองเป็นอำนาจท้องถิ่น ด้วยการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด หรืออยู่ที่ต้องกระจายอำนาจท้องถิ่นเพื่อให้ประชาชนมีส่วนรวมในกิจกรรมท้องถิ่น
           
ประเทศไทยมีการเรียกร้องและต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมานานกว่าศตวรรษ ต่อสู้และเรียกร้องมาจนถึงขณะนี้ประชาชนก็ยังไม่ได้ประชาธิปไตยสักที และสาเหตุสำคัญที่ประเทศของเรายังไม่เป็นประชาธิปไตยเหมือนอารยประเทศทั้งหลายนั้น ก็เพราะนักวิชาการและนักการเมืองหลอกประชาชน และนำประชาชนไปทำในเรื่องอื่นๆ ที่มิใช่ประชาธิปไตย ทั้งนี้เพื่อต้องการรักษาอำนาจอธิปไตยของชนส่วนน้อยไว้ นักวิชาการและนักการเมืองจึงเอาคำว่าประชาธิปไตยมาหลอกประชาชนได้ทุกเรื่อง และสามารถทำได้ทุกเรื่องไม่ว่าผิดหรือถูก ทำได้แม้กระทั่งปัญหาความเป็นความตายของชาติบ้านเมือง ยกเว้นเรื่องเดียวที่นักวิชาการและนักการเมืองไม่ยอมทำคือ การกระจาย
อำนาจอธิปไตยไปสู่ปวงชน ซึ่งก็คือ การสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริงนั่นเอง
           
อำนาจอธิปไตยเดิมอยู่ที่พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 7 ทรงมีพระราชปณิธานที่จะกระจายอำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นของพระองค์ให้แก่ราษฎรทั้งหลาย เพื่อต้องการให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง เช่นเดียวกับนานาอารยประเทศที่เป็นประชาธิปไตยทั้งหลาย ดังพระราชหัตถเลขาอันลือลั่นว่า
ข้าพเจ้าสมัครใจจะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรทั่วไป...” ซึ่งหมายถึงการสร้างประชาธิปไตยนั่นเอง แต่พระราชปณิธานของพระองค์ท่านต้องพังไป เพราะถูกคณะราษฎรทำรัฐประหารช่วงชิงเอาอำนาจอธิปไตยไปไว้กับชนส่วน้อย และสืบทอดมรดกเผด็จการมาจนถึงปัจจุบันโดยพรรคการเมือง โดยอาศัยรัฐสภาเป็นเครื่องมือใช้อำนาจของชนส่วนน้อย เพื่อรักษาผลประโยชน์ของคนร่ำรวยและพรรคพวกของตน ประชาชนจึงเรียกการปกครองปัจจุบันว่าระบอบเผด็จการรัฐสภาและสมเด็จพระปกเกล้าฯ ตรัสถึงการปกครองที่คณะราษฎรสร้างขึ้นว่าสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของพระเจ้าแผ่นดินยังดีกว่าสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของคณะ
ในประวัติศาสตร์บ้านเรา พระมหากษัตริย์ในอดีตตั้งแต่รัชกาลที่ 5, 6 และ 7 มีความเข้าใจประชาธิปไตยเป็นอย่างดี จึงขอให้เพื่อนๆพี่น้องประชาชนทั้งหลายได้โปรดให้ความสนใจศึกษา และทำความเข้าใจในแนวทางสร้างประชาธิปไตยของพระมหากษัตริย์ในอดีตดังกล่าวด้วย
           
ดังนั้น ตามที่นักวิชาการและนักการเมือง ต้องการกระจายอำนาจเพื่อสร้างประชาธิปไตยนั้น ที่ถูกต้องคือ ต้องกระจายอำนาจอธิปไตยไปสู่ปวงชนมิใช่กระจายอำนาจรัฐสู่ท้องถิ่น หรือลดอำนาจรัฐเพิ่มอำนาจสังคม
           
ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานครและจังหวัดอื่นๆ เป็นผู้ถือและใช้อำนาจการปกครองหรืออำนาจบริหาร (Administrative Power) แต่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (นายกเทศบาลนคร) เป็นผู้ถือและใช้อำนาจสังคมหรืออำนาจท้องถิ่น (Local Power) ฉะนั้น จะเอาผู้ว่าทั้ง 2 ชนิดมาปะปนกัน หรือมาเป็นอันเดียวกันไม่ได้ เพราะถืออำนาจคนละชนิด คือ อำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นอำนาจทางการเมือง แต่อำนาจของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นอำนาจท้องถิ่นซึ่งไม่เกี่ยวกับการเมือง และที่สำคัญผู้ว่าราชการจังหวัดตามหลักรวมอำนาจของประเทศรัฐเดียว ต้องแต่งตั้งจากส่วนกลางจะเลือกตั้งไม่ได้ โดยเฉพาะไม่มีราชอาณาจักรที่ไหนในโลก ซึ่งนอกจากจะเอาผู้ว่าเทศบาล (กรุงเทพมหานคร) มาทำหน้าที่แทนผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานครแล้ว ยังจัดให้มีการเลือกตั้งอีกด้วย ฉะนั้น การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานครของประเทศไทย จึงเป็นการทำลายความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของราชอาณาจักร ทำให้จังหวัดกรุงเทพมหานครกลายเป็นรัฐอิสระอยู่กลางใจเมือง ซึ่งนอกจากจะเป็นการบั่นทอนเสถียรภาพของพระมหากษัตริย์และผิดหลักวิชารัฐศาสตร์ว่าด้วยรัฐเดียวอย่างร้าย
แรงแล้ว ยังละเมิดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 1. ที่บัญญัติไว้ว่า ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้ อย่างสำคัญ
           
ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน จึงเป็นความวิปริตทางภูมิปัญญาของนักวิชาการและนักการเมืองบ้านเรา หัวมังกุท้ายมังกร เอาหลักการของประเทศหลายรัฐมาใช้กับประเทศรัฐเดียว เป็นการเปลี่ยนราชอาณาจักรให้เป็นสาธารณรัฐ ประเทศของเราในปัจจุบันจึงมิใช่มี 77จังหวัดตามที่เข้าใจ หากแต่มี 75จังหวัด กับอีก 1 นคร เพราะสถานะความเป็นจังหวัด (Province) ของกรุงเทพมหานครได้ถูกยกเลิกไป และเปลี่ยนสถานะเป็นรัฐอิสระจากการยกเลิกการปกครองส่วนภูมิภาคของนักวิชาการและนักการเมือง อำเภอยกเลิกเปลี่ยนเป็นเขต ตำบลยกเลิกเปลี่ยนเป็นแขวง และทั้งที่การปกครองส่วนท้องที่ได้ทำการยกเลิกไปแล้ว แต่ก็ยังมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้านตามชานนครกรุงเทพได้อย่างไร
           
และตามที่นักวิชาการและนักการเมืองอ้างว่า ลดอำนาจรัฐเพิ่มอำนาจสังคม คือการสร้างประชาธิปไตยก็ไม่เป็นความจริง เพราะการสร้างประชาธิปไตยต้องกระจายอำนาจไปสู่ประชาชน แต่การกระจายอำนาจการปกครองนั้น ไม่อาจกระจายไปสู่ประชาชนได้ เพราะอำนาจการปกครองนั้นต้องกระจายไปสู่องค์การหรือเขตเท่านั้น เช่น กระจายไปสู่ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น หาได้กระจายไปสู่ประชาชนไม่และการกระจายอำนาจท้องถิ่น เป็นเพียงแต่ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารท้องถิ่น หรือ “The Public to Take Part in Administrating the Locality” เท่านั้น หาได้ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารประเทศ หรือ “The Public to Take Part in Administrating the Country” ไม่ และถึงแม้ว่าจะทำให้อำนาจท้องถิ่นเป็นของประชาชนได้ทั้งประเทศ ก็หาได้เกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยไม่ ซึ่งการสร้างประชาธิปไตยของนักวิชาการและนักการเมืองเช่นนี้ ก็คือการหลอกประชาชนครับ
           
และตามที่นักวิชาการและนักการเมืองตั้ง อบจ. และ อบต. ขึ้นมาซ้อนทับกับเทศบาลและสุขาภิบาลด้วยเหตุผลที่ว่า เพื่อส่งเสริมประชาธิปไตย ก็ไม่เป็นความจริง เพราะระบอบประชาธิปไตยนั้น ต้องสร้างขึ้นก่อนจึงจะส่งเสริมได้ ถ้ายังไม่ได้สร้างขึ้นก่อนจะส่งเสริมได้อย่างไร และการกระจายอำนาจท้องถิ่นเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกิจการท้องถิ่น ไม่เกี่ยวข้องกับประชาธิปไตย เช่นเดียวกับการรวมศูนย์อำนาจท้องถิ่นก็ไม่เกี่ยวกับระบอบเผด็จการ เพราะการรวมศูนย์หรือการกระจายอำนาจท้องถิ่นเกี่ยวข้องแต่กับปัญหาความเจริญท้องถิ่นเท่านั้น
           
โดยเฉพาะตามที่นักวิชาการและนักการเมืองเข้าใจว่า จะสามารถใช้การบริหารท้องถิ่นไปสร้างชุมชนเมืองขึ้นมาได้ การบริหารส่วนท้องถิ่นจะทำให้ทุ่งนาป่าเขาเป็นเมืองได้นั้น เป็นความคิดที่กลับตาลปัตรกับข้อเท็จจริงตามหลักวิชารัฐศาสตร์ ที่มีหลักว่า ชุมชนชนบทจะพัฒนาขึ้นมาเป็นชุมชนเมืองได้ ด้วยพัฒนาการของระบบเศรษฐกิจแห่งชาติภายใต้ระบอบการปกครองที่ถูกต้อง และพัฒนาการจากชุมชนชนบทเป็นชุมชนเมือง คือเงื่อนไขไม่ให้เกิดองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น จากนั้นองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นจึงจะกลับมาผลักดันพัฒนาการของชุมชนเมืองตลอดไปมิใช่สร้างองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นขึ้นก่อนในขณะที่ยังไม่มีชุมชนเมือง ความคิดของนักวิชาการและนักการเมืองเช่นนี้ จึงเท่ากับเป็นการผลาญงบประมาณแผ่นดินและถ่วงความเจริญโดยใช่ที่
           
จากข้อเท็จจริงและหลักวิชาที่ถูกต้องตามเอกสารฉบับนี้ เป็นเครื่องยืนยันว่า นักวิชาการและนักการเมืองบ้านเรา ซึ่งนอกจากจะปราศจากความรู้ความสามารถแล้ว ยังเอาความไม่รู้ของตนมาหลอกประชาชนให้หลงเชื่อ เพื่อหวังจะให้ประชาชนมีความศรัทธาเชื่อถือพรรคพวกของตน โดยทั่วไป ประชาชนไม่มีความรู้ในวิชารัฐศาสตร์อยู่แล้ว ย่อมจะคล้อยตามเพื่อ แสวงหาสิ่งที่ดีกว่าแต่การหลอกประชาชนด้วยเรื่องการกระจายอำนาจครั้งนี้ กลับเป็นมหันตภัยร้ายแรงต่อความมั่นคงของชาติซึ่งเป็นราชอาณาจักร และต่อสถาบันพระมหากษัตริย์โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ช้าพเจ้าจึงขอเรียกร้องต่อท่านผู้รู้ทุกท่าน ต่อพี่น้องประชาชนที่เคารพรักทั้งหลาย จงลุกขึ้นมาต่อสู้กับความไม่ถูกต้องของชาติบ้านเมือง และขอเรียกร้องมายังนักวิชาการและนักการเมือง ผู้คิดจะนำบ้านเมืองไปสู่ความวิบัติ ได้โปรดละทิ้งทฤษฏีที่ผิดเสีย และหันกลับมายึดถือวิชาการที่ถูกต้อง หลักวิชาบัณฑิตต้องเคารพเว้นแต่พวกคนพาลเท่านั้น เพราะปัญหาหลักวิชาไม่ใช่ปัญหาทฤษฏี และขอได้โปรดจงร่วมมือกันในทุกฝ่ายเพื่อปฏิบัติดังนี้

            1. ยุติการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด และทำให้กรุงเทพมหานครกลับสู่สถานะความเป็นจังหวัดเหมือนเดิม
           2. ยกเลิกองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นรูปอื่นเสียทั้งหมด คงไว้แต่เทศบาลและสุขาภิบาล
           3. จงร่วมมือกันกระจายอำนาจอธิปไตยสู่ปวงชน เพื่อสร้างประชาธิปไตยที่ถูกต้องตามพระราชปณิธานของรัชกาลที่ 7ให้ปรากฏเป็นจริง และ
          4. ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายปฏิบัติดังกล่าว โดยยึดถือแนวทางสันติ ตามวิถีทางประชาธิปไตย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น